Phone

02-218-9696

Email

VetExhibition@chula.ac.th

เวลาทำการ

จันทร์ - ศุกร์: 9.00 - 16.00 น.

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Veterinary Anatomy Exhibition

Faculty of Veterinary Science, Chulalongkorn University

ส่วนจัดแสดงกายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของคณาจารย์ และบุคลากรของภาควิชาฯ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิงทางวิชาการที่มีความสมบูรณ์ และรวบรวมองค์ความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์ สำหรับการเรียนการสอน โดยมีการรวบรวมตัวอย่างจากสิ่งมีชีวิต ที่ได้จากการเรียนการสอนที่สะสมมาตั้งแต่ดั้งเดิม รวมทั้งงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างมีระบบ และมุ่งมั่นที่จะใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์แก่ นิสิต และบุคคลทั่วไป

ประวัติความเป็นมา

รองศาสตราจารย์ น.สพ. ระบิล รัตนพานี อดีตคณบดี และอดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้เล่าประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ฯ ให้ทราบดังนี้ คือ ในระหว่างปี พ.ศ. 2480-2497 ศาสตราจารย์ จักร พิชัยรณรงค์สงคราม ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ท่านได้เป็นผู้ริเริ่ม และจัดทำโครงกระดูกของสัตว์ทั้งตัว ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ ได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ ตามหลักฐานชื่อสลักของท่านได้ปรากฏติดอยู่บนแท่นไม้ที่จัดตั้งโครงกระดูกสัตว์ ว่า “จักร จารุทัติ” ซึ่งเป็นนามสกุลเดิมของท่าน เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้เด็กรุ่นหลังได้รู้ ต่อมา รองศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร. นิตย์  คำอุไร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกระดูก ท่านได้อุทิศเวลาเพื่อจัดทำโครงกระดูกสัตว์ต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก โดยท่านได้ถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับอาจารย์รุ่นหลังสืบต่อมาจนมาถึงปัจจุบัน

เมื่อปี พ.ศ. 2537 รองศาสตราจารย์ น.สพ. พยัตรา  ตันติลีปิกร ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ ได้มีการวางแผนระยะยาว 15 ปี เพื่อจัดทำและรวบรวมโครงกระดูก โครงสร้างอวัยวะของสัตว์ชนิดต่างๆ สะสมรวบรวมตัวอ่อนที่เจริญเติบโตในอายุต่างๆ รวมถึงจัดทำหุ่นจำลองที่แสดงลักษณะทางกายวิภาคให้เพียงพอสำหรับการเรียนการสอน เพื่อลดการทำลายชีวิตสัตว์ และงบประมาณที่สูญเสียไปในการจัดซื้อตัวอย่างสัตว์ และสามารถจัดแสดงให้ผู้สนใจเข้าชมศึกษาหาความรู้ได้ต่อไป เนื่องมาจากการเรียนการสอนของนิสิต ในรายวิชามหกายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์ของสุนัข และสัตวปศุสัตว์ นั้น มีความจำเป็นต้องใช้ตัวอย่างสัตว์หลายชนิด เพื่อศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางกายวิภาคที่สำคัญกับสัตว์หายาก และมีราคาแพง ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีสถานที่ในเก็บรวบรวมซาก จึงได้เริ่มดำเนินการจัดทำการเก็บรวบรวมเพื่อจัดทำโครงกระดูกของสัตว์ทั้งตัวในระยะแรก โดยจำแนกเป็น สัตว์เลี้ยง สัตว์ปศุสัตว์ และสัตว์ป่าหายาก ที่มาของซากสัตว์เหล่านั้นส่วนใหญ่นั้นมาจากสัตว์ที่เหลือใช้แล้วจากการเรียนการสอน และสัตว์ที่ได้รับการอนุเคราะห์ซากจากหน่วยชันสูตรโรคสัตว์ หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน รวมทั้งเจ้าของสัตว์ ซึ่งได้ยินยอมบริจาคซากสัตว์ และอวัยวะให้ ซึ่งเมื่อได้รับซากจำนวนมากขึ้น แต่เนื่องจากสถานที่ในการเก็บในเวลานั้น มีความคับแคบ และไม่อาจจัดเป็นสัดส่วนได้ จึงเห็นสมควรเสนอของบประมาณจากทางคณะฯ ให้มีการจัดตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์” ขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการเรียนการสอนทางกายวิภาคสำหรับสัตวแพทย์ เพิ่มมากขึ้น มีอวัยวะ หรือโครงสร้างจริง หรือคล้ายจริงเพียงพอต่อการศึกษา เป็นแนวทางให้นิสิตสามารถได้ทบทวน และแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ที่สำคัญเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมสำหรับอ้างอิง เปรียบเทียบโครงสร้างทางกายวิภาคของสัตว์เลี้ยงกับสัตว์หายาก อันก่อให้เกิดความรู้ และประโยชน์ทางวิชาการต่อสังคม แต่โครงการดังกล่าวนั้นยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณมาแต่อย่างใด

จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2556 รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร. ไพศาล เทียนไทย หัวหน้าภาควิชาฯ ได้นำคณาจารย์ และบุคลากรภาควิชาฯ พัฒนาและปรับปรุงสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์ขึ้นใหม่ โดยมีการจัดแสดงแบ่งหมวดหมู่ความรู้ต่างๆ ได้อย่างให้ชัดเจนและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สามารถเปิดให้นิสิตและผู้ที่สนใจทั่วไป สามารถเข้าเยี่ยมชมได้อย่างเป็นทางการ อันก่อให้เกิดความรู้ และประโยชน์ทางวิชาการต่อสังคมมากขึ้น โดยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมผลงานของคณาจารย์ และบุคลากรภายในภาควิชาฯ ได้แก่ โครงกระดูกสัตว์ทั้งตัว กะโหลกศีรษะ กล้ามเนื้อ ระบบหลอดเลือด สมอง และเส้นประสาท แผ่นตัดขวางลำตัวของสุนัข รวมทั้งอวัยวะต่าง ๆ ที่เก็บรักษาด้วยสารฟอร์มาลีน เช่น สมอง รก เป็นต้น รวมไปถึงอวัยวะกลวงที่ฉีดสารพลาสติกด้วยวิธี corrosion cast technique ตัวอ่อนที่เจริญเติบโตในอายุต่างๆ ซึ่งผ่านวิธีการดองใส เพื่อให้สามารถมองเห็นโครงกระดูกภายในตัวสัตว์ขนาดเล็กได้ การเก็บสะสมซากสัตว์สตัฟฟ์ชนิดต่างๆ ทั้งสัตว์ที่พบได้ทั่วไป และสัตว์ชนิดที่หายากในปัจจุบัน เพื่อการเรียนรู้รูปร่างลักษณะของสัตว์ต่างๆ เหล่านั้น

ปี 2563 รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร. เกรียงยศ สัจจเจริญพงษ์ หัวหน้าภาควิชาคนปัจจุบัน และผูุ้ช่่วยศาสตราจารย์ สพ.ญ. ภาวนา เชื้อศิริ ประธานกรรมการส่วนจัดแสดงร่วมกันกับคณาจารย์และบุคลากรภาควิชาปรับปรุงส่วนจัดแสดงกายวิภาคทางสัตวแพทย์เปิดให้เยี่ยมชมได้อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน

การเตรียมซากสัตว์

การเตรียมซากสัตว์เพื่อจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์นั้น ทำได้โดยนำสัตว์ที่ได้รับมาชำแหละ เพื่อเก็บอวัยวะต่างๆ ในน้ำยารักษาสภาพ และนำมาผ่านขั้นตอนทางกายวิภาค (anatomical techniques) ต่างๆ ต่อไป เพื่อให้สามารถเก็บรักษาซากไว้ได้นานขึ้น ซึ่งมีหลายวิธี ตัวอย่างเช่น การสตัฟฟ์สัตว์ การดองใส การต้มต่อโครงกระดูกสัตว์ทั้งตัว การเก็บอวัยวะในฟอร์มาลีน นอกจากนี้ ยังมีการนำกรรมวิธีอื่นๆ เช่น การทำหุ่นจำลองยางพารา การทำหุ่นจำลองที่ทำจากเรซิ่น และการกำซาบด้วยสารพลาสติก (plastination technique) รวมทั้ง การเก็บรวบรวมสื่อการสอนที่เกี่ยวข้องกับการสอนในรายวิชาต่างๆ ในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ภาพวาด ภาพถ่าย ที่แสดงไว้ให้ศึกษาเพิ่มเติม

ส่วนประกอบภายในพิพิธภัณฑ์

การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1. ส่วนจัดแสดงลักษณะกายวิภาคของสัตว์ที่ใช้เพื่อการเรียนการสอนในวิชามหกายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์ คือ แมว สุนัข สุกร แพะ โค ควาย ม้า และ ไก่ ประกอบด้วย โครงกระดูก หุ่นจำลอง สัตว์สตัฟฟ์ และภาพวาดบนฝาผนัง

2. ส่วนจัดแสดงสัตว์ลักษณะกายวิภาคของสัตว์แบ่งตามวิวัฒนาการของสัตว์ ได้แก่ สัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปู ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ สัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่า งู กิ้งก่า จระเข้ สัตว์ปีก เช่น นก ไก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู กระต่าย ตัวนิ่ม อัลปาก้า หนูคาปิบาร่า ลิง เสือ สิงโต และคน

ที่อยู่

อาคาร 60 ปี ชั้น 3 ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขที่ 39 ถนนอังรีดูนังต์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

เวลาเปิด

เปิดให้เข้าชม วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 8.00-16.00 น. เว้นวันหยุดราชการ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย หากท่านสนใจเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ สามารถขอวิทยากรบรรยายได้ โดยทำหนังสือแจ้งมายังภาควิชาฯ ล่วงหน้า หรือมีข้อสงสัยโปรดติดต่อได้ที่ คุณจันทิมา อินทรปัญญา คุณภักดี สุดถนอม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ สพ.ญ. ภาวนา เชื้อศิริ โทรศัพท์ 02-218-9696, 02-218-9658 โทรสาร 02-218-9657

การเดินทางสามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง ได้แก่

1.       รถโดยสารประจำทาง สาย 16 21 25 29 34 36 40 50 54 93 113 163 529 ปอ. 29

2.       รถไฟฟ้าบีทีเอส โดยลงที่ สถานีสยาม

3.       รถไฟฟ้าใต้ดิน โดยลงที่ สถานีสามย่าน